ประเทศนอร์เวย์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 19 เทศมณฑล (fylker) และ 431 เทศบาล (kommuner)
เทศมณฑลในนอร์เวย์ เป็นระดับการปกครองที่อยู่ระหว่างรัฐกับเทศบาล แต่ในปี
พ.ศ. 2553 เทศมณฑลทั้ง 19 แห่ง จะถูกจัดแบ่งใหม่เป็นเขตที่ใหญ่ขึ้น 5 - 9 เขต
เทศมณฑลและศูนย์กลางการบริหารทั้ง 19 แห่ง ได้แก่
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2448 หลังจากที่นอร์เวย์ได้ประกาศเอกราชและแยกตัวออกจากสวีเดนโดยสันติ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2448 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนอร์เวย์ใกล้ชิดมากขึ้นจากการเสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2450 ซึ่งได้ทรงลงพระนามาภิไธยย่อ “จปร” ไว้บนก้อนหิน ณ บริเวณนอร์ดแคปป์ (Nordkapp) ต่อมา ได้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานไทย ณ นอร์ดแคปป์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนนอร์เวย์ เพื่อทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว เมื่อปี 2532
เมื่อปี 2495 ได้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตในระดับอัครราชทูต และได้ยกฐานะความสัมพันธ์ขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2503 จากนั้น นอร์เวย์ได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทยตลอดมา ส่วนไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เมื่อเดือนสิงหาคม 2530 และต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล มีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐลัตเวีย
ไทยและนอร์เวย์ได้เฉลิมฉลองการครบรอบ 100 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2548 ในโอกาสดังกล่าว เจ้าชายโฮกุ้น มกุฎราชกุมารแห่งนอร์เวย์ และเจ้าหญิงเมตเต-มาริต พระชายา ได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน 2547
นอกจากนี้ นอร์เวย์เคยมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย – จีน โดยเมื่อต้นปี 2514 นอร์เวย์ได้เริ่มทำหน้าที่เป็นประเทศที่สามที่เป็นตัวกลางในการจัดให้ผู้แทนฝ่ายไทยและฝ่ายจีนได้พบปะหารือกัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2514 นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และนายเจียว กง หัว (Chiao Kuan-Hua) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้พบปะหารือกันที่นครนิวยอร์ก อันนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518
ปัจจุบัน นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล รวมทั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำลัตเวียด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมีสถานกงสุล ณ เมืองเบอร์เกน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
สำหรับนอร์เวย์ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา และพม่า เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นางคัทยา คริสทีนา โนร์ดการ์ด (Katja Christina Nordgaard) นอกจากนี้ ยังมีสถานกงสุลนอร์เวย์ประจำประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง คือ
- สถานกงสุลนอร์เวย์ประจำเมืองพัทยา มีนายสติก วักท์ แอนเดอร์ซัน (Stig Vagt Andersen) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
- สถานกงสุลนอร์เวย์ประจำจังหวัดภูเก็ต มีนางพรพรรณ สิทธิชัยวิจิตร ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
ปัจจุบัน คนไทยในนอร์เวย์มีจำนวนประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิงที่แต่งงานกับชาวนอร์เวย์ ส่วนหนึ่งได้สัญชาตินอร์เวย์แล้ว มีร้านอาหารไทย จำนวน 34 ร้าน มีวัดไทย จำนวน 1 วัด และมีสมาคมคนไทยที่สำคัญ เช่น สมาคมชาวพุทธไทย สมาคมคนไทยในเขตโรกาแลนด์ (Hordaland) และสมาคมชาวพุทธไทย ทรอนด์แฮม (Trondheim) เป็นต้น
การท่องเที่ยว
ชาวนอร์เวย์เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี
พ.ศ. 2549 มีจำนวน 101,920 คน ปี
พ.ศ. 2550 จำนวน 110,076 คน ปี
พ.ศ. 2551จำนวน 127,976 คน และปี
พ.ศ. 2552 จำนวน 151,572 คน ซึ่งมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรนอร์เวย์ซึ่งมีจำนวน 4.8 ล้านคน ในขณะที่เมื่อปี พ.ศ. 2552 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวนอร์เวย์จำนวนประมาณ 8,000 คน
แหล่งท่องเที่ยวที่ชาวนอร์เวย์นิยม คือ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ต ปัจจัยที่ ทำให้ชาวนอร์เวย์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย คือ ความสามารถสนองตอบต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวนอร์เวย์ในการท่องเที่ยวประเภทหาดทราย ชายทะเลของไทย และการที่ไทยมีค่าครองชีพที่ไม่สูง
เมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552
การบินไทยได้เปิดเส้นทางบินตรงไทย – นอร์เวย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์และนักธุรกิจ ด้วยเครื่องแอร์บัส 340-500 ประกอบด้วยชั้นธุรกิจ 60 ที่นั่ง ชั้นประหยัด 42 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 113 ที่นั่ง โดยในปัจจุบัน บินออกจากนอร์เวย์ทุกวัน ใช้เวลาบินราว 10 ชั่วโมงครึ่ง